วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2561

เรื่องอยากเล่า...ต้นทุนการเป็น "วิทยากร"...


ผมไม่รู้ว่าชอบอาชีพนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่... รู้เพียงแค่ว่า พ่อกับแม่ ได้สร้างประสบการณ์การเป็นนักพูด การขึ้นเวทีให้ผมตั้งแต่เด็กๆ...
พ่อของผมรับราชการเป็นนายช่างชลประทาน ใครๆ ก็เรียกท่านว่า “นายช่างบ้านนอก” ภาพที่คุ้นตาผมคือ เวลามีงานเลี้ยง พ่อจะเป็นคนที่พูดคุย ให้โอวาทกับบรรดาลูกน้องของท่านอยู่เสมอ พ่อเป็นนักพูดตัวแบบ ที่พูดได้ตรงไปตรงมา พูดได้จับใจ... ช่วงเวลาปิดเทอม แม่ก็จะแต่งปิ่นโต ให้ไปทำงานกับพ่อ วิ่งเล่นตามคลอง ใช้ชีวิตอยู่กับกลุ่มคนงานเยอะแยะไปหมด สภาพแวดล้อมที่อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย หลากหลายแตกต่าง คงทำให้ผมเป็นคนไม่กลัวคน กล้าพูด กล้าที่จะเข้าไปหาคนที่เราไม่รู้จัก เริ่มต้นการสนทนาด้วยเรื่องพื้นๆ ทั่วไป... มานั่งนึกๆ รำลึกความหลัง ก็เข้าใจได้ทันทีว่า ที่เราเป็นอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะการสั่งสมประสบการณ์มาตั้งแต่เด็ก บางทีพ่อกับแม่อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า มันส่งผลต่ออนาคตของผมอย่างต่อเนื่อง และมีพัฒนาการขึ้นไปเรื่อยๆ
แม่ผมรับราชการเช่นกัน สังกัดกรมการปกครอง วันไหนเป็นวันหยุด แม่จะพาไปทำงานด้วย ไปนั่งพิมพ์ดีด สมัยต๊อกแต๊กน่ะครับ ยังไม่มีคอมพิวเตอร์จิ้มๆ รูดๆ เหมือนทุกวันนี้ ทักษะด้านหนึ่งที่ได้มา คือ ทักษะการพิมพ์ แต่ที่สำคัญ ตอนนั้น เราต้องมานั่งนึกเรื่องราว จินตนาการแล้วแปลงออกมาเป็นหนังสือ ผ่านเครื่องพิมพ์ดีดต๊อกแต๊กนั่นล่ะครับ จุดเริ่มของการใช้จินตนาการ การเลือกใช้คำที่พัฒนามาเรื่อยๆ แม่เป็นคนที่มีทักษะในการสื่อสารมากครับ พูดมีหลักการ มีการอ้างอิงข้อคิด คำคม เยอะแยะไปหมด บางปีในวันคล้ายวันเกิด ท่านก็เขียนข้อคิดคำคมต่างๆ ใส่กระดาษธรรมดาๆ ส่งให้ผม ผมก็ได้ข้อคิดเหล่านี้มาปรับใช้กับชีวิตได้มากโข... แม่เป็นนักลงทุนเพื่ออนาคตให้กับลูกๆ เสมอมา มีบริษัทมาขายเทปคาสเซ็ตเรียนภาษาอังกฤษ ราคาแพงมากๆ แต่แม่ก็ซื้อครับ และ นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของผมที่ได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษแบบงูๆ ปลาๆ ของผม และ เช่นกัน แบบงูๆ ปลาๆ นี่ล่ะครับ ที่ทำให้ผมใช้ภาษาอังกฤษหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องอยู่จนทุกวันนี้
สภาพแวดล้อมก็เป็นตัวสำคัญครับ ที่ทำให้ผมพัฒนาทักษะการพูด การนำเสนอ โดยปกติ สังคมข้าราชการสมัยก่อน มีการพบปะกันบ่อยมาก (ในความรู้สึกผมนะ...) เกือบจะทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ว่าได้ ญาติๆ น้าๆ ลุงๆ ส่วนใหญ่ร้องเพลงกันเก่ง ผมก็พลอยได้ฝึกทักษะการร้องเพลงตามไปด้วย มากินข้าวเย็นกัน ร้องเพลง สนุกสนานกันไป เด็กก็ชอบ เพราะมีรางวัลแจกให้ด้วย ใครร้องเพลงได้ (ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง) ก็รับรางวัลไปเต็มๆ นี่ก็เป็นกุศโลบายที่ทำให้เด็กๆ กล้าแสดงออก บางทีไม่กล้า ท่านก็ดันหลัง ลุยเลย ยังจำได้ว่า มีเก้าอี้หนึ่งตัว ตั้งอยู่กลางวง ใครจะร้องเพลง ต้องขึ้นไปยืนบนเก้าอี้ บางทีก็จับยกขึ้นไปยืนเลย ต้องคิดแล้วว่าจะแนะนำตัวอย่างไร เริ่มต้นยังงัย จบอย่างไรให้ประทับใจ เพื่อให้ได้รางวัลขวัญใจบรรดาท่านผู้ฟังที่กระเป๋าหนักทั้งหลาย นี่ล่ะครับ ผมซาบซึ้งกับคำว่า The show must go on...มันเป็นเช่นนี้เอง...เข้าท่า... อ้อ... พ่อกับแม่ก็เป็นนักฟังเพลงตัวยง ผมเติบโตมากับเสียงเพลงสมัยเก่าๆ ก้าน แก้วสุพรรณเอย ดาวใจ ไพจิตรเอย สุนทราภรณ์เอย แต่ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ผมกลับชอบฟังโอเปร่า ฮ่าๆๆๆ สงสัยจะกลายพันธุ์ เป็นอันว่าผมได้ทักษะเรื่องการร้องเพลง รู้จักจังหวะ การเอื้อน การเอ่ย มาแบบไม่รู้ตัว ซึ่งทักษะนี้ส่งผลให้ผมรู้จักจังหวะการพูด การเน้นคำ การใช้อารมณ์ให้ถูกต้องกับสิ่งที่เราต้องการสื่อสารออกไป... ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ขนาดนี้...
....เจอกันใหม่ตอนต่อไปครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่มีผู้เข้าอ่านมากที่สุด