วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2561

5 ระดับ กับการพัฒนาตัวเองให้เป็นวิทยากร(มือ)อาชีพ...


เอารูปคนอื่นก็เกรงใจ ใช้รูปตัวเองก็แล้วกัน...


ลงมือทำทันที... ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิดครับ ทุกอย่างเริ่มต้นจากก้าวแรกเสมอ และผมก็เชื่อมาตลอดว่าทางไปสู่ความเป็นมืออาชีพนั้น “ไม่มีทางลัด”...😁



...เมื่อครั้งเริ่มต้นเป็นวิทยากรใหม่ๆ ผมต้องมานั่งสำรวจดูตัวเองก่อนว่าเรามีคุณสมบัติอะไรบ้าง พอที่จะเป็นวิทยากร (มืออาชีพ) แบบที่เขาๆ เป็นกัน... เราเป็นคนกล้าแสดงออก... เราเป็นคนมีลีลาในการพูดคุย... เราชอบพบปะกับผู้คน... เราเป็นผู้ฟังที่ดี... ท่าทีเราก็ดูดีตอนปรากฏตัว (ถึงเวลาชมตัวเอง???)... เรื่องเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ก็มีประสบการณ์มาบ้าง หาข้อมูลเพิ่มเติม พูดคุยแลกเปลี่ยน ปรึกษาหารือกับพี่ๆ ที่มีประสบการณ์มาก่อน เมื่อคิดว่ามีพร้อม ก็ลงมือทำทันทีล่ะครับ...
...เริ่มจากวางจังหวะการพัฒนาฝีมือของตัวเองก่อนครับ... ดูก่อนว่าเราจะไต่ไปถึงระดับไหน ผมใช้สูตร 5 ระดับ ในการพัฒนาตัวเองเพื่อเป็นวิทยากร...
ส่วนในเรื่องเนื้อหานั้นเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า "เราต้องมีความรู้ในเรื่องที่เราจะไปเป็นวิทยากร" และ การเป็นวิทยากร คือเครื่องมือที่เราจะส่งต่อความรู้ให้กับผู้อื่นครับ...
...ระดับที่หนึ่ง ระดับพื้นฐานครับ เป็นระดับที่เราต้องค้นหาตัวเอง โดยการประเมินตัวเอง เพื่อให้รู้ว่าตัวเองมีอะไรดี อะไรที่ต้องปรับปรุงบ้าง มีความรู้ ทักษะ แนวคิดเกี่ยกับการเป็นวิทยากรที่เราต้องเพิ่มเติม ต้องขยันหาความรู้ให้กับตัวเองเยอะๆ มีตำรากี่เล่ม ขนมาอ่านกันให้ตาเปียกตาแฉะ (อ่านกันจนหลับล่ะครับ!!!) ถาม คุย แลกเปลี่ยนกับผู้มีประสบการณ์ ในระดับนี้ยังขึ้นสอนไม่ได้ครับ ถือว่าอยู่ในขั้นเตรียมตัว กักตุนความรู้ เติมพลังทางปัญญาไว้เยอะๆ...
ระดับที่สอง ะดับพัฒนา ในระดับนี้ เป็นระดับที่เราจะเริ่มมีปฏิบัติการ คือเริ่มเป็นวิทยากรเอง ออกแบบแผนการสอนเอง แต่ต้องมีพี่ๆ ที่มีประสบการณ์ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เป็นช่วงลองผิดลองถูกสำหรับผมเอง ในช่วงนี้จะได้รับประสบการณ์มากมาย ทั้งสนุกสนาน สับสน เจ็บปวด (ในบางครั้ง) เรียนรู้ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา ปรับตัว ปรับใจ ฝึกหัดการวางตัว ฝึกหัดการควบคุมอารมณ์ ฝึกหัดเรื่องการสื่อสาร ตื่นตัวตลอดเวลา... 
...ระดับที่สาม เป็นระดับก้าวหน้า ในระดับนี้เริ่มฉายเดี่ยวได้ สะสมชั่วโมงบินมาเยอะ ออกแบบแผนการสอนได้เอง...แต่ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ก็รู้ว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร ไปหาใคร...ในขั้นนี้สามารถประยุกต์ใช้กระบวนการและวิธีการที่หลากหลาย มีความชัดเจนในมุมมอง และแนวคิดต่างๆ สามารถสื่อสารและถ่ายทอดได้อย่างเป็นธรรมชาติ ในระดับนี้เริ่มถ่ายทอดความรู้ให้กับวิทยากรรุ่นน้องๆ ได้ เพราะมีประสบการณ์มาแล้ว สามารถยกรูปธรรมในการพัฒนาตัวเองสู่การเป็นมืออาชีพ...
...ระดับที่สี่ ระดับชำนาญการ ระดับนี้เริ่มสร้างวิทยากรมือใหม่ได้ ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความแตกต่างกันได้ พัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ในการเป็นวิทยากรสำหรับตัวเอง และสำหรับผู้อื่นได้ นอกจากนั้น สามารถประยุกต์ใช้กระบวนการเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในงานฝึกอบรมเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงการพัฒนาตัวเองในเรื่องชีวิต ในเรื่องการงาน... 
และระดับสูงสุด คือ ระดับเชี่ยวชาญ ถ้าว่าไปแล้ว ระดับนี้เป็นระดับที่มีอะไรเข้ามา ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นวิทยากร การจัดกระบวนการเรียนรู้ สามารถจัดการได้หมดครับ พลิกแพลงได้หลายรูปแบบ ออกแบบได้ตามความต้องการของผู้จัด สามารถวิเคราะห์ความจำเป็นได้อย่างชัดเจน ออกแบบกระบวนการได้อย่างเหมาะสม และ สามารถกำหนดแนวทางที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาบุคคลากร พัฒนาองค์กร ในระดับนโยบายได้...หรือถ้าพูดภาษาชาวบ้านว่า ถ้านึกถึงวิทยากรด้านการติดตามประเมินผล ทุกคนต้องร้อง "อ๋อ อาจารย์...งัย"...ตามมุมมองของผม ในระดับนี้จะมีลักษณะ “พูดน้อย ต่อยหนัก”...
...พอรู้ระดับของตัวเองแล้ว ก็ลงมือทำทันทีครับ ค่อยๆ ไปตามจังหวะ ถ้าหากจับจังหวะไม่ถูก ให้ฟังเสียงจังหวะของหัวใจ แล้วคุณจะรู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่มีผู้เข้าอ่านมากที่สุด