วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2561

Ikigai...สูตรสำเร็จนั้นมีมากมาย แต่จะสำเร็จหรือไม่ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง...ตอนที่ ๕


...สวัสดีครับ...เรามาต่อกันในตอนที่ ๕ เรื่องสูตรสำเร็จครับ...

...ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว เราได้พูดคุยกันเรื่อง การค้นหา "ความปรารถนาของชีวิต"...วันนี้เราจะมาคุยกันต่อเรื่อง "วิชาชีพ" ครับ

...การค้นหา "วิชาชีพ" ของเรา เป็นการพิจารณาจาก "สิ่งที่เราถนัด" กับ "สิ่งที่ทำแล้วเกิดรายได้" ครับ...สององค์ประกอบนี้เป็นส่วนผสมของทักษะ ความชำนาญของเรา เข้ากับสิ่งที่ทำแล้วเกิดรายได้ครับ...หลายคนบอกว่า บางครั้งการทำสิ่งที่เกิดรายได้ กลับไม่ใช่สิ่งที่เราถนัดเสมอไปครับ...ในมุมมองตรงกันข้าม ถ้าเราคิดพิจารณาดูดีๆ ว่าเราสามารถนำสิ่งที่เราถนัดมาทำให้เกิดรายได้ นั่นถือว่าสุดยอดล่ะครับ ถนัดด้วย เกิดรายได้ด้วย...ดังนั้นในขั้นนี้ เราต้องค่อยๆ ดูตัวเอง อย่าหลอกตัวเอง โดยปกติ ทักษะที่เกิดขึ้นในงานก็จะเป็นสิ่งที่เราถนัดอยู่แล้ว เพราะความถนัดหรือทักษะนี่ ต้องอาศัยการฝึกฝน อาศัยการสะสมชั่วโมงบินมาทั้งนั้นครับ..."วิชาชีพ" เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้มาจากโรงเรียน จากการทดลองปฏิบัติ ค่อยๆ สะสมมา ทั้งด้านการคิด มุมมอง ความเชื่อ และการลงมือปฏิบัติ...ถ้าเราพิจารณาดูดีๆ ค่อยๆ พิจารณา เราก็จะเห็นความสัมพันธ์กันอย่างแยบคายครับ...

...ขออนุญาตยกตัวอย่างจากผู้เขียนเอง ในการกำหนด "วิชาชีพ"...ผู้เขียน "ถนัด" ในเรื่องการฟังคน ฟังเพื่อเข้าใจ, ถนัดในเรื่องการดูบุคลิกภาพของคน และบอกได้ว่าบุคคลผู้นั้นมีลักษณะนิสัยอย่างไร, ผู้เขียนถนัดในเรื่องการออกแบบขบวนการเรียนรู้เพื่อให้คนได้ค้นหาศักยภาพของตัวเอง...ส่วน "สิ่งที่ทำแล้วเกิดรายได้หาเลี้ยงตัวเอง" ก็เป็นเรื่องการเป็นวิทยากร, การเป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้, การเป็นโค้ช, การเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาบุคลากรและองค์กร...

...เมื่อนำ "สิ่งที่ถนัด" มาพิจารณากับ "สิ่งที่ทำแล้วเกิดรายได้หาเลี้ยงตัวเอง" ผู้เขียนก็จะได้ "วิชาชีพ" คือ การเป็นวิทยากร, การเป็นโค้ช, การเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาบุคลากรและองค์กร ครับ...

...จากตัวอย่าง เราก็จะเห็นความสัมพันธ์ ซึ่ง "วิชาชีพ" ก็มาจาก "ความถนัด" ของเราเอง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมครับ...

...ในตอนต่อไป เราจะมาพิจารณาขั้นที่ ๓ เพื่อกำหนด "คุณค่าของงานที่เราทำ ที่มีต่อสังคม (Vocation)" ครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่มีผู้เข้าอ่านมากที่สุด